วิทยาศาสตร์เบื้องหลังการทรงตัวตามหน้าที่: ป้องกันการสูญเสียการทรงตัว

โดยปกติแล้วผัสสะแห่งการทรงตัวของเรามักถูกมองข้าม ด้วยเหตุนี้ จึงอาจไม่มีใครสังเกตเห็นการสูญเสียการทรงตัวของเราจนผ่านไปเป็นเวลานาน

เขียนโดย Stannah

จากการวิจัยของ Grover, Atkin และ McGinley ในหัวข้อ “Certainty as a Provocation” ทำให้ตอนนี้เราเข้าใจดีว่าเราไม่สามารถวางใจกับการรับรู้การทรงตัวของเราได้อย่างสมบูรณ์ และการวัดเชิงปริมาณเป็นสิ่งจำเป็นต่อการประเมินระดับการทรงตัวตามหน้าที่ได้อย่างแม่นยำ และถ้าเราลองคิดดู เราแทบจะไม่เคยตั้งคำถามถึงผัสสะแห่งการทรงตัวของเราเลย! เรามองข้ามความสำคัญเป็นเสียส่วนใหญ่ ดังนั้น เป้าหมายของเราคือการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการทรงตัวตามหน้าที่และความตระหนักในตนเองสำหรับผู้สูงอายุเมื่อพวกเขาทำกิจกรรมประจำวัน เพื่อให้พวกเขาสามารถระบุสิ่งที่พวกเขามีปัญหามากที่สุดและพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

วิทยาศาสตร์เบื้องหลังการทรงตัวตามหน้าที่

ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการทรงตัวตามหน้าที่หรือความบกพร่องในการทรงตัวเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจว่าเหตุใดผู้สูงอายุจึงมีโอกาสที่จะประสบกับการหกล้มมากกว่า ความสามารถในการระบุความบกพร่องในการทรงตัวจะช่วยให้เราสามารถใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อลดความถี่และความรุนแรงของการหกล้มได้ เป็นอย่างน้อยที่สุด หากไม่ได้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก

การทรงตัวของคุณทำงานอย่างไร

การทรงตัวเป็นรากฐานของทุกอย่างที่มีการเคลื่อนไหว ช่วยให้เราเดิน วิ่ง และเคลื่อนไหวได้โดยไม่หกล้ม การทรงตัวและดุลยภาพถูกควบคุมผ่านสัญญาณที่ส่งไปยังสมอง ซึ่งมาจากดวงตาของเรา หูชั้นใน และจากระบบประสาทสัมผัสอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อและข้อ ทั้งหมดทำงานร่วมกันเป็นระบบการทรงตัวของเราหรือจะเรียกให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้นก็คือ ระบบกำหนดรู้การทรงตัวของร่างกาย

 

หูชั้นในประกอบด้วยเซมิเซอร์คิวลาร์แคแนล (semicircular canal) สามท่อที่มีของเหลวและอวัยวะรับความรู้สึกที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบหมุนของศีรษะได้ เมื่อศีรษะเคลื่อนไหว เซลล์ขน (hair cell) ในเซมิเซอร์คิวลาร์แคแนลจะส่งกระแสประสาทไปยังสมอง กระแสประสาทจะถูกประมวลผลในสมองเพื่อช่วยให้เรารู้ว่าเราอยู่ที่ไหนในอวกาศหรือเรากำลังเคลื่อนไหวอยู่หรือไม่

แม้ว่าเราจะทราบดีว่าการทรงตัวของเราเริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ ทันทีที่เราอายุ 35 ปี คุณอาจสังเกตเห็นบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับผัสสะแห่งการทรงตัวของคุณเมื่อคุณมีอาการบ้านหมุนหรืออาการมึนเวียนศีรษะ นั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับระบบกำหนดรู้การทรงตัวของร่างกายของคุณ เช่น โรคเมเนียร์ และคุณควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเฉพาะทาง

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียการทรงตัวอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวัยชราและมักถูกมองข้าม เช่น การสูญเสียการมองเห็น การสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ความบกพร่องทางการรู้คิดอันเนื่องมาจากความชรา หรือแม้แต่การขาดวิตามินบี 12 สิ่งนี้สามารถส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการเคลื่อนไหว ทำให้บุคคลนั้นรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อยืนหรือเดิน นั่นคือเหตุผลที่ความเสี่ยงจากการหกล้มเพิ่มขึ้นตามอายุ

ในรายงาน Global Report on Falls Prevention in Older Age (2007 หน้า 5) World Health Organization (องค์การอนามัยโลก) ได้นำเสนอแบบจำลองปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการหกล้มและการบาดเจ็บจากการหกล้ม โดยแบ่งเป็นหมวดต่าง ๆ ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรม:

  • การใช้ยาหลายชนิด
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • รองเท้าที่ไม่เหมาะสม

ปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม:

  • การออกแบบอาคารที่ไม่ดี
  • พื้นและบันไดลื่น
  • พรมหลุดลุ้ยหรือเคลื่อนย้ายได้ง่าย
  • แสงสว่างไม่เพียงพอ
  • ทางเท้าร้าวหรือไม่สม่ำเสมอ

ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและสังคม:

  • รายได้และระดับการศึกษาต่ำ
  • ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ
  • ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
  • การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสังคมมีจำกัด
  • ขาดแคลนทรัพยากรชุมชน

ปัจจัยเสี่ยงด้านชีวภาพ:

  • อายุและเพศ
  • โรคเรื้อรัง (เช่น พาร์กินสัน โรคข้ออักเสบ โรคกระดูกพรุน)
  • สมรรถภาพทางกาย ความสามารถทางการรู้คิด และทางอารมณ์เสื่อมถอยลง

การประเมินสุขภาพด้านการทรงตัวและการป้องกันการหกล้ม

การป้องกันการหกล้มไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เพราะบางครั้งบุคคลก็ขาดความตระหนักในตนเองเกี่ยวกับสุขภาพด้านการทรงตัวของพวกเขา เว้นแต่จะหกล้มแล้วหรือมีคนอื่นชี้ให้เห็นว่าพวกเขาสะดุดบ่อยเกินไป

ซึ่งแน่นอนเป็นที่สุดว่าจะต้องมีการฝึกการทรงตัวที่กำหนดโดยนักกิจกรรมบำบัด ภายใต้มุมมองของการป้องกันและขึ้นอยู่กับประเภทของความผิดปกติในการทรงตัวที่ได้รับการระบุ โดยปกติแล้ว การฝึกจะเริ่มต้นด้วยการประเมินการทรงตัว ซึ่งจะให้ข้อมูลแก่นักกายภาพบำบัดเพื่อพัฒนาโปรแกรมการบำบัดรักษาที่เฉพาะเจาะจง นักกายภาพบำบัดมักใช้แบบประเมิน Berg Balance Scale ซึ่งใช้ประเมินการทรงตัวตามหน้าที่สำหรับผู้สูงอายุในสถานการณ์ประจำวันโดยแบบประเมินนี้จะให้ข้อมูลเชิงปริมาณ เป้าหมายคือการมีเครื่องมือสาหรับการวินิจฉัยที่แม่นยำที่ใช้ประเมินสุขภาพด้านการทรงตัวทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และให้การฝึกการทรงตัวแบบเคลื่อนไหวที่ทำเป็นระยะเวลาต่อเนื่องและสามารถปรับปรุงการทรงตัวของร่างกายแบบอยู่กับที่และแบบเคลื่อนไหวและการจัดแนวของร่างกาย และในท้ายที่สุดเพิ่มความมั่นใจในการทรงตัวได้ กิจกรรมทางกายผ่านการออกกำลังกายแบบหลายมัดกล้ามเนื้อ (Functional Exercise) เป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงการทรงตัวของคุณ ทำให้กล้ามเนื้อของเราแข็งแรงและแก้ไขท่าทางของร่างกาย ซึ่งรวมกันแล้วจะมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการหกล้ม

การเสริมความแข็งแรงของข้อเท้าเพื่อปรับปรุงการทรงตัวตามหน้าที่และลดความเสี่ยงจากการหกล้ม

หลังจากทดสอบสุขภาพด้านการทรงตัวของเราและขจัดความเป็นไปได้ของสภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหูชั้นในหรือระบบกำหนดรู้การทรงตัวของร่างกายแล้ว เราอาจสรุปได้ว่าการสูญเสียการทรงตัวนั้นเกิดจากความไม่มั่นคงของข้อเท้า เมื่อพิจารณาถึงความมั่นคงของข้อเท้า เราควรพิจารณาเข่าและสะโพกด้วยเสมอ เนื่องจากมีการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อส่วนดังกล่าว ซึ่งกล่าวได้ว่าข้อเท้าเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมการทรงตัวในขณะเคลื่อนไหว

และสิ่งที่ดีที่สุดในการปรับปรุงความมั่นคงของข้อเท้า ตลอดจนการปรับปรุงท่าเดินก็คือการออกกำลังกายแบบหลายมัดกล้ามเนื้อ การฝึกนี้เป็นการฝึกกิจกรรมอย่างมีเป้าหมาย (task-oriented exercise) ที่มีการทำกิจกรรมประจำวันซ้ำ ๆ เนื่องจากผู้สูงอายุจะใช้เวลาอยู่ที่บ้านเป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือต้องพยายามเลียนแบบสถานการณ์ในชีวิตประจำวันและให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวที่ต้องทำ เมื่อตรวจพบปัญหาเหล่านี้แล้ว ให้พยายามปรับปรุงด้วยการออกกำลังกายจนกว่าจะกลายเป็นกระบวนการที่กระทำโดยไม่รู้ตัว สิ่งนี้จะนำไปสู่ความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อที่ดีขึ้นและความมั่นคงในการทรงตัว เนื่องจากกล้ามเนื้อและข้อจะแข็งแรงขึ้นและท่าทางการเดินก็จะดีขึ้นตาม

การฟื้นฟูการทรงตัวตามหน้าที่และความมั่นใจหลังกระดูกสะโพกหัก

บางครั้งเราอาจระบุความบกพร่องในการทรงตัวได้ก็ต่อเมื่อเกิดการหกล้มขึ้นแล้วเท่านั้น เนื่องด้วยอายุคาดหวังเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ความถี่จากการหกล้มจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปหากเราไม่สามารถวินิจฉัยการสูญเสียการทรงตัวได้ทันเวลา อาการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดและส่งผลให้ไร้ความสามารถอันมีสาเหตุมาจากการหกล้มคือกระดูกสะโพกหัก

เมื่อมีใครคนหนึ่งเกิดการหกล้ม เราจะฟื้นฟูสมรรถภาพการทรงตัวตามหน้าที่ของพวกเขาได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขามีทั้งความทุพพลภาพทางร่างกายและความกลัวที่จะหกล้มเพิ่มเข้ามา

ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (2014) “โดยทั่วไปแล้วมุมมองในระยะสั้นและระยะยาวสำหรับผู้ป่วยไม่ค่อยดีนักหลังจากเผชิญกับกระดูกสะโพกหัก โดยอัตราการเสียชีวิตในระยะเวลา 1 ปีเพิ่มขึ้นระหว่าง 18% ถึง 33% และส่งผลกระทบด้านลบต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การช็อปปิ้งและการเดิน การทบทวนความทุพพลภาพในระยะยาวพบว่าผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักประมาณ 20% ได้เข้ารับการดูแลระยะยาวในปีแรกหลังกระดูกหัก”

หลังจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจดังกล่าว ความสำเร็จของการฟื้นฟูสมรรถภาพจะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี แต่มักจะเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกและข้อเข่า การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ การฟื้นคืนการทํางานประสานและการทรงตัว การฟื้นฟูการทรงตัวตามหน้าที่ทีละน้อยจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและความมั่นใจของผู้ป่วย

การทรงตัวตามหน้าที่และความบกพร่องทางการรู้คิดในผู้สูงอายุ

หลักฐานแสดงว่าผู้สูงวัยที่เคลื่อนไหวร่างกายจะมีความสามารถทางด้านการรู้คิดที่ดีกว่า อันที่จริงแล้ว กิจกรรมทางกายมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาท (neurogenesis) การเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาท นั่นหมายความว่ามีกระบวนการเปลี่ยนแปลงและซ่อมแซมเซลล์สมอง (neuroplasticity) เกิดขึ้นเมื่อสมองถูกกระตุ้น นี่เป็นเรื่องจริงแม้กระทั่งในสมองของผู้สูงอายุ

การสูญเสียการทรงตัวมักจะส่งผลให้กิจกรรมทางกายลดลงเพราะกลัวการหกล้ม ซึ่งอาจค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ความบกพร่องทางร่างกาย ส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางการรู้คิดรวดเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องบำบัดต้นตอของความวิตกกังวล การปรับปรุงการทรงตัวด้วยการเสริมสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว โดยเฉพาะกล้ามเนื้อข้อเท้า จะช่วยลดความเสี่ยงของการหกล้มได้อย่างแน่นอน และจะช่วยให้สมองเฉียบคมและมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น!

 

อ่านเพิ่มเติม:

  • Grover, S., Atkin, R., and McGinley, C. 2015. Certainty as a Provocation: The Design and Analysis of 2 Quant-Qual Tool Dyads for a Qualified Self Technology Project. In: Proceedings of the 2nd Biennial Research Through Design Conference, 25-27 March 2015, Cambridge, UK, Article 22. DOI: 10.6084/m9.fgshare.1328004
  • Delbaere K, Sherrington C, Lord SR. Falls prevention interventions. In: Marchus R, Feldman D, Dempster DW, Luckey M, Cauley J, eds. Osteoporosis. 4th ed. Philadelphia, PA: Elsevier; 2013:chap 70.
  • Donath L, van Dieen J, Faude O. Exercise-based fall prevention in the elderly: what about agility? Sports Med. 2016;46:143-149. PMID: 26395115